top of page
Search
Writer's pictureSupphawit Boss

6 เทคนิค รีโนเวทตึกแถวเก่าให้กลายเป็นบ้านที่คุณหลงรัก

Updated: Oct 18, 2021



ในช่วงแห่งการ Quarantine หลายคนคงจะได้อยู่บ้านกันมากขึ้น นี่น่าจะเป็นช่วงเวลาที่คุณจะได้กลับมาศึกษาสำรวจดูใจบ้านของคุณอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่งด้วย แน่นอนว่าการแก้ไขบ้านนั้นยุ่งยากกว่าการสร้างใหม่ ยิ่งกับบ้านที่เราอยู่อาศัยกันมานาน แค่เริ่มคิดว่าอยากซ่อมบ้านก็ปวดหัวแล้ว วันนี้ Birth House Studio จะมาแนะนำเทคนิคดีๆ 6 ข้อ ในการแปลงโฉมบ้านตึกแถวผ่านมุมมองของเรากัน



1. ฮาวทูทิ้ง ขอยกชื่อหนังของพี่เต๋อ นวพล มาสักหน่อย หากใครเคยดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว จะรู้ว่า ‘จีน’ ตัวเอกของเรื่องมีความแน่วแน่ในการทิ้งๆๆๆๆ สิ่งที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จนสามารถเนรมิตบ้านสไตล์มินิมอลได้สมใจอยาก แต่เราไม่ได้แนะนำให้คุณต้องทำขนาดนั้น เพียงแต่การทิ้งนั้นถือเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงบ้าน เพราะสเปซที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้บ้านมีพื้นที่ใช้สอยตรงกับความต้องการของคุณได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ลองสำรวจในบ้านคุณดู ว่าควรทิ้งอะไร เพิ่มอะไร และ เก็บอะไรไว้ได้บ้าง


อย่างการทิ้งตู้โชว์ที่ไม่ค่อยมีฟังก์ชั่นเท่าไหร่ เปลี่ยนเป็นมุมทำงาน และยังมีพื้นที่ว่างสำหรับวอลล์เปเปอร์ลายสวย แต่เรายังเก็บโต๊ะอาหารเก่าไว้ เพียงแค่ทำสีซะหน่อย ก็เหมือนได้โต๊ะอาหารตัวใหม่มาแล้ว


2. มีดีก็ต้องโชว์ บ้านที่สวยงาม ก็เหมือนกับคนที่รู้จักแต่งตัว แก้ไขจุดด้อย ชูจุดเด่น หรือจุดไหนที่แก้ไม่ได้จริงๆ ก็เลือกที่จะปกปิดมันไปเลยจะดีกว่า ถือเป็นเสน่ห์ของตึกแถว ที่มีความหลากหลายด้านบรรยากาศ ทำเลที่ตั้ง ตรงนี้อาจต้องระดมสมอง ช่วยกันสังเกต หรือให้มัณฑนากรช่วยคิด ก็จะตีโจทย์แตกได้มากขึ้น



ถนนเส้นไม่ใหญ่แต่การจราจรแสนโกลาหลอย่างสุทธิสาร เราบังเอิญมองเห็นพื้นที่สีเขียวจากอีกฝั่งถนน จึงทุบกำแพงออก สร้างเป็นระเบียง เปิดรับบรรยากาศจนอลาดินยังต้องร้องว่า A Whole New World!!!!



3. ไปให้สุด หยุดที่เธอ หลายๆ คน ยังเปลี่ยนแฟนใหม่บ่อยกว่าซ่อมบ้านอีก ฉะนั้น ซ่อมบ้านทั้งที เราต้องเลือกสไตล์ที่เราชอบที่สุด แหม่...ทีตอนเลือกแฟนเราต้องเลือกคนที่ใช่ กับบ้านที่อยู่ทุกวัน ก็ต้องเลือกสไตล์ที่ใช้สิจ๊ะตั้งแต่ดูนิตยสารตกแต่งบ้านมา น้อยมากที่จะเห็นบ้านที่ผสมผสานหลายๆ สไตล์รวมกัน ออกมาแล้วดูลงตัว และคุณไม่ใช่มาธ่า สจ๊วต (Martha Helen Stewart) ที่มีสัญชาตญาณหยิบจับอะไรก็ดูเข้าที่เข้าทางไปหมด ฉะนั้น กำหนดสไตล์ของบ้านตัวเองซะ และไปให้สุดสักทาง อย่าไปสนคำวิจารณ์ของใคร เพราะถ้าคุณหลงรักมันแล้ว นั่นคือที่ที่เป็นตัวตนของคุณ



4. เจ็บแต่จบ มาถึงเรื่องที่ซีเรียสขึ้นนิดนึง กับงบประมาณ เราต้องตั้งงบขึ้นมากับโปรเจคชิ้นนี้ และประสานกับ อินทีเรียดีไซเนอร์ถึงเรื่องการคอนโทรลเงินไม่ให้รั่วออกจากกระเป๋ามากจนเกินไป แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าคุณมีงบมากพอ ก็ควรเสียเงินไปกับของคุณภาพที่เราใช้บ่อยๆ อย่าง โซฟาตัวโปรด โต๊ะทำงาน สุขภัณฑ์ห้องน้ำ ตู้ครัว หรือแม้แต่อุปกรณ์fitting ต่างๆ สิ่งที่คุณใช้ทุกวันล้วนคุ้มค่าต่อการลงทุน


5. ศึกษาดูใจ จะใครซะอีกล่ะ!เราหมายถึงคนที่จะมาเป็นผู้ช่วยคุณในการออกแบบปรับปรุงบ้าน สิ่งสำคัญเลยคือคุณต้องดูสไตล์ของดีไซเนอร์คนนั้นว่าตรงกับที่คุณชอบรึเปล่า โดยอาจดูจากประวัติผลงานผ่านอินสตาแกรม ถ้าชอบค่อยนัดหมายพูดคุย ถ้าคุยกันถูกคอ นอกจากจะได้บ้านใหม่ที่ถูกใจแล้ว คุณอาจได้เพื่อนใหม่เพิ่มอีกคน ใครจะไปรู้?!?


6. เสียน้อยเสียมาก เสียยากเสียง่าย หลังจากบรีฟแบบแล้ว ดีไซเนอร์หลายๆคนมักจะมีช่างรับเหมาที่ทำงานด้วยกันอยู่ประจำ ซึ่งแน่นอนว่าจะรู้ใจกันมากกว่าช่างนอกที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ถ้าคุณอยากหาช่างเอง ย้ำว่าอย่าเลือกทีมช่างที่เสนอราคาถูกอย่างเดียว เพราะปลายทางอาจต้องเสียดายเงินที่ทำไปกับการรื้อทำใหม่ หรือช่างหนีงาน เป็นปัญหาสุดคลาสสิกในวงการอินทีเรีย ฉะนั้นลองขอคำแนะนำเรื่องผู้รับเหมาจากสถาปนิกของคุณเองจะดีกว่า


นี่คือประสบการณ์ที่เรานำมาแชร์ หวังว่าจะช่วยให้คุณจะแปลงโฉมบ้านเก่า ให้กลายเป็นบ้านที่คุณหลงรัก...ได้อีกครั้ง




Credit

Article : Supphawit Boss Photograph : BKKGRAPHER Interior Design : Birth House Studio

52 views0 comments

コメント


bottom of page